ดนตรี : ศิลปะ ปัญญา รักษา ชีวิต

เทคโนโลยียุคดิจิตอล แชร์เรื่องราวมากมาย เกี่ยวกับดนตรีหลายแง่มุม ดนตรีที่เรารู้จักในนามศิลปะแขนงหนึ่งอันเป็นความงดงามทางเสียง นั้นเป็นเรื่องของเชาว์ปัญญาอีกด้วย เป็นความสามารถที่แสดงออกถึงไหวพริบที่ดูแล้วเหนือคนปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีพรสวรรค์นี้อยู่ ขึ้นอยู่กับว่าจะเปิดประตูรับมันหรือไม่ หลายคนปิดประตูโดยให้เหตุผลว่า ฉันไม่มีพรสวรรค์ นั่นเป็นความคิดเดาเอาเอง ลองเปิดใจดู   อีกซีกโลกหนึ่ง ดนตรี ได้ช่วยให้ผู้ป่วยทั้งทางจิตใจ และร่างกาย หมดทุกข์เมื่อสามารถมาแทนที่ยาได้ ชีวิตดี้ดี แต่สำหรับนักดนตรีแล้ว ดนตรีคือชีวิต ที่ขาดไม่ได้ ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพหนึ่ง แต่เป็นทักษะมนุษย์ที่ทุกคนต้องมี ลองเริ่มฟังเพลงทุกวันแล้วจะค้นพบคำตอบของชีวิต

ดนตรี : คุณค่าเหนือคำบรรยาย

ดนตรี สำหรับนักดนตรีแล้ว เป็นสิ่งเลอค่าเหนือคำบรรยาย มีค่าในตัวเองต่อผู้ที่เสพ สัมผัสรับรู้ถึง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติทั้งฟังและ เล่น ผู้นั้นจึงจะเข้าใจ

ผู้วิจารณ์ดนตรีที่มิใช่นักดนตรี  ไม่มีสุนทรียะทางดนตรี จึงไม่มีค่า ต่อการรับฟัง 

แม้ว่าผู้วิจารณ์ในทางดี หรือในทางเสื่อมต่อดนตรีก็ตาม มิใช่สิ่งที่ต้องนำมาคิดตาม แต่การเรียนรู้ คุณค่าจากนักดนตรี หรือครูดนตรีที่เป็นนักดนตรีที่เชี่ยวชาญจะทำให้ผู้เรียนได้รู้ถึงสุนทรียะที่แท้จริง ทุกคน  ที่เคยเรียนดนตรีแล้ว รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ มีหลายสาเหตุ วิธีเรียนดนตรีมีหลากหลาย แต่ละคนต้องเลือกวิธีของตนเองที่ถูกกับนิสัยการเรียนของตน เช่น ชอบเรียนด้วยตนเอง เลือกเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับตนเอง ครูที่มีแนวการสอนตรงกับเรา หลักสูตรวิธีการสอน ความเร็ว(speed) ในการเรียน แต่ละหลักสูตร  ไม่เท่ากัน บางสถาบันดำเนินไปช้า นักเรียนที่หัวไวก็เบื่อ บางแห่งเข้มข้นจนเด็กรู้สึกว่ายากเกินไปก็ล้มเลิก ในหลักสูตรที่ส่วนมากอิงหนังสือจากต่างประเทศเป็นหลัก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งเนื่องจากเพลงที่ใช้ ไม่ใช่เพลง  ในบริบทของสังคมไทยเด็กไม่รู้จักก็เบื่อ แต่ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะเด็กไม่ได้มีโอกาสฟังก่อนเล่น เมื่อเด็ก  มีโอกาสฟังเพลงก่อนมากๆ ความรู้สึกเบื่อและล้มเลิกก็มีแนวโน้มลดลง

ในปัจจุบันสื่ออันหลากหลาย  การสอนที่ยืดหยุ่นตามศักยภาพผู้เรียน ย่อมต้องปรับตัวตามให้ทัน ที่สำคัญ  ต้องตอบโจทย์ด้านคุณค่า  สุนทรียะ  และทันสมัย  ภายใต้ ธรรมชาติดั้งเดิมของดนตรี นั่นคือ ความรู้สึกความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงออก ในสามขั้นตอนนี้การเรียนรู้ดนตรี สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อนอื่นใดคือ ต้องรู้สึกกับดนตรีให้ได้ ถ้าผู้เรียนยังไม่รู้สึกสุนทรีย์กับดนตรี หมายถึงการเรียนรู้ยังไม่เริ่มต้น ครูต้องสอนให้นักเรียนรู้สึก  โดยสังเกตุพฤติกรรมเช่น  ชอบ  อยากเล่น  สนุก  ตนเองชอบ   มีการดัดแปลง  เพิ่มเติมนั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์  ที่ตามมาเอง  เช่น  นำมาเล่นใหม่แบบตนเอง (Cover)   และไปถึงขั้นผลิตงานออกมาใหม่(Reproduce) บางคนถึงขั้นเป็นนักแต่งเพลง (Composer/Song Writer/Producer) เป็นต้น

ที่กล่าวมานั้นเป็นวิถีการสืบทอดดนตรี คือฟัง สร้างสรรค์ ถ่ายทอด และก็มีผู้ฟังอื่น ทำอย่างนี้ ต่อกันไป และพัฒนารูปแบบขึ้น ดนตรีในตลาดปัจจุบันมีความหลากหลายมากนักดนตรีและผู้เรียนควรได้ฟังเพลง หลากหลายแนว เมื่อมองไปในการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เคยได้ไปสังเกตุมา พบว่าสิ่งสำคัญที่นักเรียนในวิชาดนตรีขาดมากคือ การฟังดนตรีที่ครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนด เนื่องจากเวลามีน้อยจึงเป็นการบรรยาย หรือได้ฟังเพียงช่วงสั้นมากๆ จึงไม่เกิดสุนทรียะ เท่ากับเป้าหมายของหลักสูตรดนตรี ไม่บรรลุความสำเร็จขั้นต้นนั่นเองทั้งที่เนื้อหาหลักสูตรวางไว้ดีมาก

แม้ว่าสื่อการเรียนดนตรีออนไลน์ที่มีมากมาย เพิ่มความสะดวกให้ผู้ที่อยากหัดดนตรี และเพิ่มประสบการณ์ฟังเพลงได้ง่ายขึ้น แต่การเลือกดนตรีที่ดีนั้นไม่ง่าย การเลือกดนตรีเพลงดังๆ ง่ายกว่า ในประเด็นนี้ กล่าวได้ว่า ขั้นพื้นฐานก็เรียนเองกันไปได้ ส่วนในขั้นสูงต้องคลุกคลีกับมืออาชีพหรือไปหาอาจารย์จะเหมาะกว่าเพื่อก้าวไปถูกทางอย่างถูกต้องต่อไป

ในศตวรรษที่ 21 นักวิชาการทั้งสายการศึกษา จิตวิทยา และทางการแพทย์ต่างวิจัยค้นคว้าผลของดนตรี ต่อสมองในการเรียนรู้ อาทิ ศาสตราจารย์ฟรานเชส เราเชอร์ จากผลงาน The Mozart Effect ทดสอบด้วยบทเพลงโซนาตา สำหรับสองคน(Duet) ผลที่พบคือการฟังดนตรีทำให้พัฒนาการในการเรียนวิชาอื่นดีขึ้น ในด้านของนักจิตวิทยา ศาสตราจารย์โฮเวิร์ด  การ์ดเนอร์ จากผลงาน Multiple Intelligences ภายใต้งานวิจัย Project Zero  ผู้ค้นพบ ทฤษฎีพหุปัญญา ได้ยืนยันว่าสมองทางด้านดนตรี คือ หนึ่งในแปดด้านที่มนุษย์ควรเรียน ดนตรีเป็นปัญญา เป็นอัจฉริยภาพเฉพาะด้านไม่เกี่ยวกับด้านอื่น จะใช้วิชาอื่นเป็นเครื่องมือวัดความฉลาดด้านนี้ไม่ได้ ด้านการศึกษา ศาสตราจารย์เอ็ดวิน กอร์ดอน ได้ค้นพบเครื่องมือวัดความถนัดทางดนตรีที่นิยมใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แม่ว่าก่อนหน้าจะใช้ของ Seashore ในปัจจุบันใช้  MAP (Musical Aptitude Profile) ในการวัดนี้ รวมไปถึงผลการศึกษาการนำดนตรีมาใช้ในโรงเรียนของ นักดนตรีศึกษาอย่างโคได ในบูดาเปส ทำให้ทั่วโลกทึ่งถึงความมหัศจรรย์ของดนตรี ที่ทำให้กลุ่มนักเรียนดนตรีในฮังการีมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ สูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น แม้กระทั่งกับตนเองเทียบกับก่อนเรียนดนตรี

ข้อสรุปแม้ว่าดนตรีจากตะวันตกมีการศึกษาพบผลที่ดีต่อผู้เรียน  นั่นมิได้แปลว่าสอนอย่างไรก็ได้  ถ้าสอน และใช้ดนตรีไม่ถูกต้องก็ไม่เห็นผล  คำว่าถูกต้องนักดนตรีศึกษา  ให้คำจำกัดความว่า ต้องฟังให้มากเท่ากับการที่เราหัดพูดภาษาแม่  ต้องสนุก  ต้องเป็นขั้นเป็นตอน  ต้องเป็นสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคย มีส่วนร่วม และได้แสดงออกร่วมกัน  หากไม่สมบูรณ์ตามที่กล่าวมา  ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการสอนดนตรีที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามดนตรีเป็นของทุกคน ดนตรีทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทุกคนต้องเรียนดนตรี

  •  Campbell, Don (1997). The Mozart Effect : tapping the power of music to heal the body, strengthen the mind, and unlock the creative spirit (1st ed.). New York: Avon Books. ISBN 978-0380974184.
  • Choksy, Lois. The Kodály Method I: Comprehensive Music Education. Upper Saddle River, New Jersey: Prentice-Hall, 1999.
  • Edwin Gordon, All About Audiation and Music Aptitudes (September 1999, Music Educators Journal) 43
  • Edwin Gordon, Learning Sequences in Music: A Contemporary Learning Theory (Chicago: GIA Publications, Inc, 2007)

 

ดนตรี : มนุษย์

ดนตรีเกิดขึ้นมาเพราะมนุษย์  ดำรงอยู่เพราะมนุษย์ และจะสูญสิ้นไปก็เพราะไม่มีมนุษย์ มนุษย์จึงต้องดำรงรักษามรดกโลกนี้ไว้  หากมิเช่นนั้น โลกคงเงียบเหงา ขาดแรงบันดาลใจ  ขาดเสียงเพลงอันนำความสุขมาสุ่โลกนี้